มะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาการเป็นอย่างไร รักษาหายได้หรือไม่

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สังเกตอาการอย่างไร มีโอกาสรักษาหายได้ไหม ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงบ้าง

จากข่าวไวรัลบนโซเชียลที่คุณหมอลูกหมู วัย 28 ปี เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ “พักก้อน” โพสต์ประสบการณ์เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Diffuse Large B-cell Lymphoma (DLBCL) ซึ่งเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งที่ดุและโตเร็ว จึงทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่ามีอาการเป็นอย่างไร และรักษาได้หรือไม่

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Diffuse Large B-cell Lymphoma (DLBCL) เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดลุกลามอย่างรวดเร็ว (aggressive lymphoma) ที่พบมากที่สุดทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้จะมีอัตราการแบ่งตัวของมะเร็งเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือน ถึง 2 ปี แต่ข้อดีคือผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้มีโอกาสที่จะหายขาดจากโรคได้ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาการเป็นอย่างไร

สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Diffuse Large B-cell Lymphoma (DLBCL) จะมีอาการที่คล้ายกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั่วไป ได้แก่

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาฯ
  • เหงื่อออกเวลากลางคืน
  • น้ำหนักลดมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีการคลำพบก้อนในบริเวณต่างๆ เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ หรือในช่องท้อง โดยก้อนที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นคลำแล้วจะไม่เจ็บ ซึ่งแตกต่างจากโรคที่มีการติดเชื้อที่มักมีอาการเจ็บที่ก้อน
  • ต่อมทอนซิลโต
  • ไอเรื้อรัง หายใจไม่สะดวก
  • ซีด และเลือดออกง่าย อาจสังเกตพบจุดเลือดออกตามตัว หรือมีจ้ำเลือดได้
  • ในรายที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องจะมีอาการแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง หรือท้องโตขึ้นจากการมีน้ำในช่องท้อง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง รักษาได้หรือไม่

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในปัจจุบันที่มีวิวัฒนาการทางการแพทย์ดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้หากตรวจพบในระยะเริ่มแรกและรีบทำการรักษาโดยเร็ว รวมถึงร่างกายมีการตอบสนองที่ดีจะสามารถหยุดการรักษาได้เกินกว่า 5 ปี เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักคิดว่าหายขาดเมื่อได้รับการรักษาอย่างครบถ้วนแล้ว

สำหรับแนวทางการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งที่ตรวจพบ โดยแบ่งออกเป็นการให้เคมีบำบัดเป็นหลัก และอาจมีการใช้รังสีรักษาและการผ่าตัดในบางกรณี ซึ่งสูตรของยาเคมีที่ใช้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทั้งนี้ การรักษานั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็งที่พบด้วย บางตำแหน่ง การรักษาคือการให้ยาเคมีบำบัด ร่วมกับการฉายรังสี หรือการผ่าตัด แต่หลักๆ คือ การให้ยาเคมีบำบัด

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการคาดการณ์เบื้องต้นพบว่ามีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  1. ปัจจัยทางเคมี วัตถุทางเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น สารเคมีปราบศัตรูพืช น้ำยาย้อมผม เป็นต้น
  2. ปัจจัยทางภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีสมรรถภาพภูมิคุ้มกันโรคลดลง เช่น โรคเอดส์ การปลูกถ่ายอวัยวะ โรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น
  3. ปัจจัยทางพันธุกรรม การเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นมีความชัดเจนที่เกิดมาจากกรรมพันธุ์ทางครอบครัว เช่น พี่น้องอาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตามลำดับ หรือเป็นพร้อมกัน
  4. สาเหตุจากไวรัส การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัส HIV เป็นต้น
  5. สำหรับวัยที่ตรวจพบมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สามารถพบได้ในกลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 20-40 ปี โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง ช่วงอายุประมาณ 60-70 ปี

ดังนั้นหากพบว่าตนเอง หรือคนใกล้ชิดมีอาการที่คล้ายคลึงว่าอาจจะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาแต่เนิ่นๆ เพราะยิ่งทำการรักษาเร็วก็มีโอกาสหายมากขึ้นตามไปด้วย

อ้างอิงข้อมูล: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์